อาการริดสีดวงทวารมักจะเกิดจากการขับถ่ายไม่ถูกสุขลักษณะ การอั้นหรือบ่งถ่ายเป็นเวลานานจนทำให้เกิดแผลหรือการบวมของเส้นเลือดและมีเลือดออกจากบริเวณทวารหนัก ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์
ก็มักจะมีอาการของริดสีดวงทวารจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงและการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ขับถ่ายลำบากและเจ็บปวดบริเวณทวารหนัก ก่อให้เกิดความรำคาญและกังวลใจ แต่อาการของริดสีดวงทวารไม่ได้รุนแรงหรือเป็นอันตรายกับการตั้งครรภ์ หากคุณแม่ดูแลเรื่องการขับถ่ายให้ดีค่ะ
ทำไมจึงเป็นริดสีดวงทวาร?
ริดสีดวงทวารเป็นเส้นเลือดที่โป่งพองขึ้นมาบริเวณทวารหนัก (คล้ายกับการเป็นเส้นเลือดขอดที่ขา) ซึ่งสาเหตุที่คุณแม่มักจะเป็นริดสีดวงทวารก็เพราะฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป บางท่านที่ไม่เคยเป็นริดสีดวงมาก่อนก็อาจเพิ่งมาเป็นในช่วงตั้งครรภ์ที่ปริมาณและการไหลเวียนของเลือดในร่างกายเพิ่มมากขึ้น (โดยเฉพาะร่างกายส่วนล่าง) แต่ระบบไหลเวียนเลือดไม่สะดวกเพราะมดลูกที่ขนาดใหญ่ขึ้นไปกดทับเส้นเลือดดำในบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งในเส้นเลือดดำและเกิดการบวมบริเวณทวารหนัก
นอกจากสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การกินอาหารที่มีกากใยน้อย อาการท้องผูกขับถ่ายไม่สะดวกจึงต้องเบ่งถ่ายนาน การยกของหนัก การนั่งหรือยืนนานๆ ก็มีส่วนทำให้เป็นริดสีดวงทวารในช่วงตั้งครรภ์ได้มากขึ้นเช่นกัน
ริดสีดวงทวารกับคุณแม่หลังคลอด
หากคุณแเป็นริดสีดวงทวารในช่วงตั้งครรภ์ก็ยังสามารถคลอดแบบธรรมชาติได้ตามปกติ ซึ่งแพทย์จะเพิ่มความระมัดระวังในการตัดฝีเย็บเพื่อไม่ให้ไปโดนริดสีดวง และไม่ให้มีการฉีกขาดของช่องคลอดมากเกินไป
ส่วนใหญ่อาการริดสีดวงทวารมักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด แต่บางรายอาจเป็นๆ หายๆ ซึ่งแพทย์มักจะรอให้คลอดก่อนแล้วจึงจะพิจารณาว่าควรผ่าตัดรักษาหรือไม่ ดังนั้นหลังคลอดจึงควรฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่ต้องกลัวว่าการขับถ่ายจะทำให้แผลเย็บฉีกขาด เน้นการกินอาหารที่มีกากใยและการเดินก็จะช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น
อาการของริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงทวารถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายใดๆ กับการตั้งครรภ์ แต่มักจะทำให้เกิดความรำคาญ คันรอบทวารหนัก เจ็บและมีเลือดติดปนมาเวลาถ่ายอุจจาระหรือหลังถ่าย ซึ่งริดสีดวงอาจออกมาเฉพาะเวลาที่เบ่งถ่ายและหดกลับไปหลังถ่ายเสร็จ หรือบางคนอาจเป็นก้อนอยู่ภายนอกยื่นออกมาจากทวารหนักขณะถ่ายอุจจาระ ทำให้ระคายเคืองและรู้สึกไม่สบายบริเวณทวารหนัก ถ้ามีเลือดออกมากอาจมีอาการซีดได้
คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะอายไม่กล้าปรึกษาแพทย์จนอาการริดสีดวงเป็นมากขึ้น จึงควรสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่
- เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระมีมูกหรือเลือดปนออกมา (ถ้ามีเลือดออกจากทวารหนักไม่ว่ากรณีใดก็ตาม คุณแม่ต้องรีบไปพบแพทย์)
- มีอาการคันหรือเจ็บมากบริเวณรอบทวารหนัก
- รู้สึกว่ามีก้อนหนักๆ ถ่วงบริเวณทวารหนัก
- มีก้อนยื่นออกมาจากทวารหนัก มีอาการเจ็บก่อนหน้า ระหว่างหรือหลังถ่ายอุจจาระ หรือกดแล้วเจ็บ
หากมีอาการเหล่านี้หรือสงสัยว่าจะเป็นริดสีดวงทวารควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
บรรเทาและป้องกันอาการริดสีดวงทวาร
หากเป็นริดสีดวงมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์หรือเพิ่งเริ่มเป็นในช่วงตั้งครรภ์ การใช้ยารักษาริดสีดวงทวารอาจเป็นเรื่องยากเพราะมียาไม่กี่ชนิดที่สามารถใช้ได้ระหว่างตั้งครรภ์ จึงไม่ควรซื้อยารักษาเอง แต่ควรปรึกษาสูติแพทย์ว่าครีม ขี้ผึ้งหรือยาเหน็บสำหรับรักษาริดสีดวงทวารชนิดใดที่สามารถใช้ได้บ้าง เพราะยาบางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
การป้องกันและบรรเทาอาการริดสีดวงทวารไม่ให้เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่ให้อาการลุกลาม จึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและสามารถทำได้เอง ดังนี้
- ใช้ความร้อน-ความเย็น : การแช่น้ำอุ่นโดยนำอ่างขนาดพอดีใส่น้ำอุ่นแล้วนั่งแช่ประมาณ 10-15 นาที ทำวันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยลดความเจ็บปวด การบวมและการอักเสบของริดสีดวงทวารได้ หรือใช้การประคบเย็นโดยนำผ้าหนาๆ ห่อน้ำแข็งหรือแผ่นเจลสำเร็จรูปแช่ให้เย็น แล้วนำมาประคบก็ช่วยลดความเจ็บปวดและอาการบวมได้เช่นกัน
- หลังการขับถ่ายทุกครั้ง ควรทำความสะอาดรอบทวารหนักโดยใช้น้ำสะอาดล้าง หรือสำลีชุบน้ำเช็ดเบาๆ แล้วซับให้แห้ง อย่าถูแรงเพราะจะทำให้เจ็บและริดสีดวงบวมมากขึ้น และควรเลือกใช้กระดาษชำระชนิดที่อ่อนนุ่ม ไม่ยุ่ยเกินไป ไม่มีกลิ่นหอม หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ แป้งโรยตัวที่มีส่วนผสมของน้ำหอมในบริเวณรอบทวารหนัก เพราะสารเคมีที่อยู่ในน้ำหอมอาจทำให้ระคายเคืองบริเวณแผลได้
- ดูแลอย่าให้ท้องผูก กินอาหารที่มีกากใยสูง หมั่นกินผักและผลไม้โดยเฉพาะในช่วงมื้อเย็น และดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้ว โดยเฉพาะหลังตื่นนอนตอนเช้า 10-15 นาที จะทำให้ระบบทางเดินอาหารบีบตัวมากขึ้น ช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวก
- พยายามควบคุมการขับถ่ายให้เป็นปกติ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และเข้าห้องน้ำทันทีที่รู้สึกปวดท้อง อย่ากลั้นไว้นานเพราะจะทำให้ถ่ายออกลำบาก หลีกเลี่ยงการเบ่งแรงๆ และการนั่งในห้องน้ำเป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนเป็นเวลานานๆ ไม่ยกของหนักเพราะอาจทำให้ริดสีดวงแตกหรือมีเลือดออกมาก และควรนอนตะแคงซ้ายทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หรือยกขาพาดกับเก้าอี้ประมาณ 15 นาที เพื่อลดแรงดันในช่องท้อง
- ออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินหรือว่ายน้ำวันละเล็กน้อย จะช่วยให้ระบบต่างๆ ของร่างกายรวมถึงระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายทำงานเป็นปกติ
การดูแลเรื่องระบบขับถ่ายจึงเป็นอีกเรื่องที่ควรใส่ใจเพื่อไม่ให้เป็นริดสีดวงทวาร และวิธีเหล่านี้ยังสามารถใช้ได้จนถึงหลังคลอดเช่นกันค่ะ
ขอขอบคุณ : นิตยสาร Mother&Care