ลูกเล็กมีไข้จัดการอย่างไร
เด็กเล็กวัย 5 ขวบปีแรกที่มีไข้สูง โดยเฉพาะหากเป็นไข้ในวันแรกหรือวันที่สอง มีความเสี่ยงต่ออาการชักเนื่องจากไข้สูงได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายโดยการเช็ดตัวลดไข้และให้กินยาลดไข้ แต่การเช็ดตัวลดไข้สามารถทำให้ไข้ลดลงได้เร็วกว่าการใช้ยาลดไข้ ซึ่งมักต้องใช้เวลานาน ½-1 ชั่วโมงกว่าจะออกฤทธิ์ หากเด็กมีไข้สูงไม่ควรให้ยาลดไข้อย่างเดียว ต้องเช็ดตัวลดไข้ควบคู่ไปด้วยเสมอ
การเช็ดตัวลดไข้ ควรถอดเสื้อผ้าของเด็กออก ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดบริเวณซอกคอ ซอกรักแร้ ขาหนีบ หน้าอก และหลัง อย่าลืมวัดไข้ก่อนและหลังเช็ดตัวทุกครั้ง ซึ่งหลังเช็ดตัวแล้ว อุณหภูมิร่างกายจะลดลงประมาณ 1 องศาเซลเซียส และควรเช็ดตัวซ้ำอีกหากอุณหภูมิยังสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
ไข้ในเด็กเล็กป้องกันได้
ไข้ในเด็กเกือบทั้งหมดมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ หากเด็กไม่ติดเชื้อจะมีโอกาสในการเป็นไข้น้อยมาก การป้องกันทำได้โดยการจัดสิ่งแวดล้อมที่เด็กอยู่ให้เหมาะสมและการสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค
เด็กเล็กมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่างๆ เนื่องจากร่างกายยังสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่สูงเพียงพอในการป้องกันโรค คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปยังสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หรือฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรหมั่นล้างมือและใช้หน้ากากอนามัยปิดปากปิดจมูกเวลาพาเด็กไปในที่ชุมชนหรือเวลาเจ็บป่วย
อีกทั้งนมแม่เป็นแหล่งอาหารที่มีภูมิคุ้มกันในการป้องกันให้เด็กเจ็บป่วยลดลง วัคซีนช่วยให้ร่างกายของเด็กสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคต่างๆ โดยเฉพาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์มาก เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อทางระบบหายใจในเด็ก ส่วนวัคซีนอื่นๆ ที่อาจให้ประโยชน์เพิ่มเติม ได้แก่ วัคซีนฮิบ วัคซีนไอพีดี วัคซีนไอกรน และวัคซีนโรต้า ครับ
การรู้ข้อมูลเพื่อสังเกต และจัดการกับอาการไข้ของลูกแต่เนิ่นๆ ก็ช่วยป้องกันไม่ให้อาการนั้นลุกลามไปกว่านี้ และดูแลได้อย่างทันท่วงที
ยาลดไข้สำหรับเด็ก
สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน ต้องระมัดระวังในการใช้ยาลดไข้ เพราะอาจมีผลเสียต่อตับได้ ควรใช้การเช็ดตัวลดไข้เป็นหลัก และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล ถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงในเด็ก มีให้เลือกใช้ 3 ชนิดคือ ชนิดหยดสำหรับเด็กเล็กๆ และเด็กที่กินยายาก (ขนาด 1 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 10 กก.) ชนิดน้ำเชื่อมสำหรับเด็กเล็ก (ขนาด 1 ช้อนชาหรือ 5 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 10 กก.) และชนิดน้ำเชื่อมสำหรับเด็กโต (ขนาด 1 ช้อนชาต่อน้ำหนักตัว 20 กก.) แนะนำให้ใช้ทุก 4-6 ชั่วโมงเวลามีไข้
สำหรับยาลดไข้ไอบูโปรเฟนที่หลายคนเรียกว่า ยาลดไข้สูง มักช่วยให้ลดไข้ได้ดีกว่ายาพาราเซตามอล แนะนำให้ใช้เป็นยาเสริมเพิ่มเติมเมื่อใช้ยาพาราเซตามอลแล้วไข้ไม่ลดลงหรือไข้ขึ้นอีก แต่ยังไม่ถึงเวลาจะให้ยาพาราเซตามอลในมื้อถัดไป
ขอขอบคุณ นิตยสาร Modernmom (by M-thai)
ไข้ในเด็ก หน้า 188 / เดือนมิถุนายน 2554
เรื่อง : รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย